ประกาศข่าว


หัวข้อ:รายละเอียดโครงการโอลิมปิกวิชาการ

โครงการโอลิมปิกวิชาการ


ความเป็นมาของโครงการ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงเล็งเห็นความสำคัญและปัญหาของการพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของประเทศไทยให้ได้ระดับมาตรฐาน จึงได้ประทานเงินส่วนพระองค์ให้สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนาวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ทั้งทรงรับเป็นองค์ประธานมูลนิธิในขณะนั้นด้วย ซึ่งปัจจุบัน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานมูลนิธิ สอวน.  เพื่อสนองพระดำริขององค์ประธานมูลนิธิและเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติในระยะยาว มูลนิธิ สอวน. จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มนักเรียนที่มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ก่อนรวมถึงการพัฒนาวิธีการสอนและพัฒนาทัศนคติของครูผู้สอนทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ด้วย แล้วจึงขยายผลต่อไป

วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้เยาวชนไทยที่จะไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการได้รับการเตรียมความพร้อมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างเต็มที่ สามารถเข้าร่วมการแข่งขันกับเยาวชนจากนานาประเทศอย่างมั่นใจ และประสบความสำเร็จจากการแข่งขันได้มากยิ่งขึ้น
2. เพื่อขยายจำนวนนักเรียนให้ได้มีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมในโครงการโอลิมปิกวิชาการมากยิ่งขึ้น
3.เพื่อเพิ่มจำนวนของอาจารย์วิทยาศาสตร์และอาจารย์คณิตศาสตร์ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะช่วยในการพัฒนาการเรียนการสอนในระดับโรงเรียนให้ได้มาตรฐานในระดับประเทศ
4. เพื่อส่งเสริมให้มีการนำประโยชน์ที่ได้จากการดำเนินโครงการโอลิมปิกวิชาการมาพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้ได้ระดับมาตรฐานสากล
5. เพื่อให้ได้หลักสูตรพิเศษที่สามารถนำไปใช้คัดเลือกนักเรียนที่ดีเด่นจริงๆ เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยในประเทศต่อไปในอนาคต

วิธีดำเนินการ
จัดตั้งศูนย์ สอวน. ระดับภูมิภาคเพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าค่ายฝึกอบรมโอลิมปิกวิชาการ ค่ายที่ 1 ในเดือนตุลาคม และค่ายที่ 2 ในเดือนมีนาคม เพื่อคัดเลือกให้ไปเข้าค่ายที่ 3 4 และ 5 ที่ศูนย์ส่วนกลางในกรุงเทพฯ และเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการในระดับนานาชาติ ตามลำดับ

วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับมอบหมายจากมูลนิธิ สอวน. ให้เป็นศูนย์ สอวน. ระดับภูมิภาค ภายใต้ชื่อ ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยขอนแก่น รับผิดชอบดำเนินโครงการใน 10 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุดรธานี มหาสารคาม หนองคาย เลย สกลนคร หนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด และบึงกาฬ โดยจะดำเนินการจัดอบรมใน 5 สาขาวิชา ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์
ปัจจุบันศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีโรงเรียนในเครือข่าย ดังนี้
     โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จ.ขอนแก่น
     โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) จ.ขอนแก่น
     โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ จ.กาฬสินธุ์
     โรงเรียนสารคามพิทยาคม จ.มหาสารคาม
     โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จ.อุดรธานี
     โรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร จ.หนองคาย
     โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล จ.สกลนคร
     โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.สกลนคร
     โรงเรียนหนองบัวพิทยาคม จ.หนองบัวลำภู
     โรงเรียนเลยพิทยาคม จ.เลย
     โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย จ.ร้อยเอ็ด
และมูลนิธิ สอวน. สพฐ. และ สสวท. ได้ร่วมมือกันจัดตั้งโครงการศูนย์โรงเรียนขยายผล ทำให้สามารถจัดอบรม ค่ายที่ 1 เพิ่มได้อีกใน 4 สาขา ได้แก่
     สาขาวิชาฟิสิกส์ โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จ.ขอนแก่น
     สาขาวิชาเคมี โรงเรียนสารคามพิทยาคม จ.มหาสารคาม
     สาขาวิชาชีววิทยา โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จ.อุดรธานี
     สาขาวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย จ.ร้อยเอ็ด
ในปี 2559 ได้มีการเปลี่ยนแปลงศูนย์อบรมค่ายที่ 1 ของสาขาชีววิทยาและสาขาเคมี จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.สกลนคร) และโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ (จ.กาฬสินธุ์)

ในปี 2560 ได้มีการเปลี่ยนแปลงศูนย์อบรมค่ายที่ 1 ของสาขาฟิสิกส์และคอมพิวเตอร์ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็น โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เลย (จ.เลย) และโรงเรียนหนองบัวพิทยาคาร (จ. หนองบัวลำภู) 

ในปี 2562 ได้เพิ่มศูนย์อบรมสาขาคอมพิวเตอร์อีก 1 ศูนย์ คือ โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย (จ. ขอนแก่น)

ในปี 2563 เนื่องจากเกิดผลกระทบจาก COVID-19 จึงได้จัดอบรมค่าย 1 และ 2 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพียงครั้งเดียว


คุณสมบัติของนักเรียนที่มีสิทธิ์สมัครเพื่อสอบคัดเลือกเข้าค่ายฯ ให้ศึกษารายละเอียดใน "ประกาศรับสมัคร"
 

ขั้นตอนดำเนินการค่ายโอลิมปิกวิชาการ
1. รับสมัครนักเรียนจากโรงเรียนในจังหวัดที่รับผิดชอบ โดยนักเรียนทุกคนต้องสมัครแบบออนไลน์ทาง http://olympiad.computing.kku.ac.th พร้อมทั้งพิมพ์ใบแจ้งยอดชำระเงินค่าสมัครและนำไปชำระเงินได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์หรือธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ ค่าสมัคร 100 บาท โดยในขั้นตอนการสมัคร หากนักเรียนระบุศูนย์สอบที่โรงเรียนใด จะต้องสอบคัดเลือกที่ศูนย์โรงเรียนนั้นเท่านั้น ไม่อนุญาตให้มีการย้ายศูนย์สอบโดยเด็ดขาด
2. สอบคัดเลือก ณ โรงเรียนเครือข่ายศูนย์ โดยนักเรียนต้องสอบในสนามสอบที่ตนเองเลือกสมัครเท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสนามสอบในภายหลังได้ รายชื่อโรงเรียนเครือข่ายที่เป็นศูนย์สอบมีดังนี้

          - โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จ.ขอนแก่น
          - โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) จ.ขอนแก่น
          - โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ จ.กาฬสินธุ์
          - โรงเรียนสารคามพิทยาคม จ.มหาสารคาม
          - โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จ.อุดรธานี
          - โรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร จ.หนองคาย
          - โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล จ.สกลนคร
          - โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.สกลนคร
          - โรงเรียนหนองบัวพิทยาคาร จ.หนองบัวลำภู
          - โรงเรียนเลยพิทยาคม จ.เลย
          - โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย จ.ร้อยเอ็ด

หมายเหตุ: นักเรียนทุกคนต้องนำบัตรประจำตัวที่มีรูปถ่ายและหลักฐานการชำระเงินค่าสมัครที่มีตราประทับจากธนาคารมายื่นในวันสอบด้วย
3. ประกาศผลการสอบคัดเลือก ทางเว็บไซต์ http://olympiad.computing.kku.ac.th
4. เข้ารับการอบรม ณ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคัดเลือกนักเรียนเพื่อเข้าแข่งขันระดับประเทศ

สิทธิพิเศษ
1. การรับเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีโดยวิธีพิเศษ ซึ่งผู้ที่ผ่านการเข้าค่ายที่ 2 จากศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยขอนแก่น และกำลังศึกษาอยู่ชั้น ม.5 สามารถสมัครเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยวิธีการสอบสัมภาษณ์ในคณะต่างๆ ทั้งนี้ สิทธิ์ที่จะเข้าศึกษาต่อให้ตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธิ สอวน.
2. นักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันระหว่างประเทศ มีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาให้ได้รับทุนการศึกษาต่อต่างประเทศตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก
3. การเข้าร่วมโครงการเรียนล่วงหน้าของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในโครงการนำร่อง 4 สาขาวิชา ได้แก่ ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์ โดยนักเรียนที่มีเวลาเรียนเกิน 80% ในค่ายที่ 2 ในสาขาวิชาดังกล่าวและศึกษาอยู่ชั้น ม.5 สามารถเข้าร่วมโครงการเรียนล่วงหน้าในปีการศึกษานั้นๆ สามารถสมัครสอบวัดความรู้สาขาวิชาที่ตนเองเรียนร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้นปีที่ 1 ได้ ทั้งนี้ ถ้าสามารถผ่านเกณฑ์วัดความรู้ระดับ C ขึ้นไป สามารถนำมาเทียบโอนหน่วยกิตในวิชาที่สอบผ่านได้ทันทีเมื่อเข้าศึกษาในระดับอุมศึกษาในมหาวิทยาลัยขอนแก่น